หายนะทางธุรกิจคือฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากจะจดจำ แต่ถ้าเรารู้จักเรียนรู้ในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นฝันร้ายก็มักจะกลับกลายเป็นดีเสมอ
ให้ทุกก้าวย่างที่ผิดพลาดเป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อที่ว่าครั้งต่อไปจะได้ไม่ก้าวผิดอีก
ในประวัติศาสตร์การทำธุรกิจของโลกนั้นมีหลายครั้งหลายคราวที่ความล้มเหลวของระบบการเงินได้อุบัติขึ้น และได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของมวลมนุษยชาติเป็นวงกว้างจนหลายคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว lซึ่งความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดล้วนมีที่มาจากน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น INCquity จึงอยากจะขอนำผู้ประกอบการทุกท่านไปย้อนรำลึกถึงความล้มเหลวของระบบธุรกิจโลกที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาธุรกิจในวันนี้ โดย 10 สุดยอดหายนะทางธุรกิจในประวัติศาสตร์โลกมีดังต่อไปนี้
วิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1929
Photo courtesy of B Tal
ถือเป็นปฐมบทแห่งหายนะทางธุรกิจยุคบุกเบิกเลยทีเดียวสำหรับวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริการยุคปี ค.ศ. 1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Great Depression ที่หากกล่าวไปคงไม่มีใครเชื่ออย่างแน่นอนว่าจะมีภาพคนอเมริกันนับแสนเข้าคิวรอรับอาหารและของแจกฟรีจากหน่วยงานการกุศล ซึ่งวิกฤติทางการเงินในครั้งนั้นเกิดจากความตื่นตูมจนเกินเหตุของเหล่าบรรดาอเมริกันชนที่มีต่อตลาดหุ้นวอล สตรีท และพากันไปกู้เงินมาลงทุนในตลาดหุ้นจนหมดตัวเพื่อหวังรวยทางลัด จึงเป็นที่มาของการเกิดภาวะเก็งกำไรขึ้น ส่งผลให้ หุ้นของหลายๆบริษัทมีราคาทะยานขึ้นสูงเกินกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว ทั้งที่เศรษฐกิจของอเมริกาช่วงนั้นกำลังถดถอย ทำให้เมื่อถึงเดือนกันยายนก็เริ่มมีข่าวลือว่าหลายๆบริษัทมีอาการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง และวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นวอล สตรีท ก็เกิดความผันผวนอย่างหนัก หุ้นตกแบบทิ้งดิ่งจนถึงขีดสุด มีการระดมเทขายอย่างหนัก จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หุ้นที่ประชาชนถืออยู่ในมือจึงกลายเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งไปในพริบตา ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารก็พากันล้มละลายไปหลายสิบแห่งเพราะประชาชนไม่สามารถคืนเงินกู้ได้
วิกฤติการเงินในครั้งนี้จึงสอนให้เรารู้ว่าการลงทุนโดยขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านคือหายนะอย่างแท้จริงไม่ต่างอะไรจากแมงเม่าบินเข้ากองไฟเลยแม้แต่น้อย
วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนติน่า ปี ค.ศ. 1999-2002
Photo courtesy of mootioon
วิกฤติทางการเงินของอาร์เจนติน่าเกิดจากความผิดพลาดหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม นโยบายการเงิน ไปจนถึงการคอร์รัปชัน ที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารจนมาถึงประชาธิปไตยที่มีการกดดันจากต่างประเทศ โดยอาร์เจนติน่ามีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่สูงมาก จนเกิดภาวะการขาดดุลทางการเงินอย่างหนัก แถมมีปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% และเกือบจะ 3000% ในปี 1983 จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลและนโยบายทางการเงินใหม่หมดโดยมีการกำหนดค่าเงินบาทแบบตายตัว แต่แทนที่นโยบายดังกล่าวจะช่วย มันกลับทำให้เกิดปัญหาด้านการส่งออกขึ้น เพราะค่าเงินแข็งเกินไปสินค้าส่งออกขายได้ยาก หนี้เก่าเองก็มีเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้สินกับต่างประเทศก็ไม่มีใช้คืนให้เขา สุดท้าย IMF เลยต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน
ในกรณีนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าความสามารถของผู้นำและนโยบายทางการเงินของรัฐบาลมีผลต่อการอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขนาดไหน
วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ปี ค.ศ. 2009
Photo courtesy of euronews
วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซปะทุขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมานี่เอง โดยสาเหตุหลักๆมีที่มาจากการขาดวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารเงินคงคลังภายใน ผสมกับภาวะถดถอยทางการเงินของกระแสเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลถึงร้อยละ 14.5 และยังมีหนี้สาธารณะขึ้นสูงถึงร้อยละ 113 ของ GDP ซึ่งยังไม่รวมรายจ่ายต่อปีจำนวนมากอีก นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวมาช้านานยังกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอีกด้วย ที่ร้ายกว่านั้นคือการที่มันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป จนเหล่าบรรดาภาคี EU และ IMF ต้องเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้ประเทศนี้เอาไว้ไม่ให้ล้มละลาย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซนั้นมีที่มาจากการขาดไร้ซึ่งระเบียบวินัยทางการเงินของผู้บริหารประเทศและการก่อหนี้สาธารณะขึ้นสูงจนเกินไปตามรูปแบบประชานิยมนั่นเอง
วิกฤติการเงินในรัสเซีย ปี ค.ศ. 1998
Photo courtesy of Ray Cunningham
วิกฤติทางการเงินในดินแดนถิ่นหมีขาวและวอดก้าอร่อยในครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดร้าวให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเรื่องเริ่มจากรัสเซียในขณะนั้นเพิ่งจะหลุดพ้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเดิมและทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นทุนนิยมมากขึ้น สินค้าหลักๆในขณะนั้นก็คือพวกเหล็ก น้ำมัน และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยมีเอเชียเป็นลูกค้าอันดับหนึ่ง แต่พอเอเชียประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของตนเองเข้า การสั่งซื้อสินค้าจากรัสเซียก็น้อยลงในขณะที่ปริมาณการผลิตเท่าเดิม จึงเริ่มเป็นที่มาของราคาสินค้าตกต่ำถึงขีดสุด แต่เนื่องจากรัสเซียต้องการเงินมาพัฒนาโครงสร้างของประเทศจำนวนมหาศาลจึงออกพันธบัตรเงินกู้เป็นจำนวนมากนำออกขายให้นักลงทุนที่สนใจ โดยมี Yield (ผลผลิตสุทธิที่ได้จากกระบวนการผลิต ซึ่งหักการสูญเสียออกทั้งหมด)ถึง 20% ในหนึ่งปีซึ่งหาไม่ได้จากที่ไหน และนักลงทุนขณะนั้นก็มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของรัสเซียพอสมควรเพราะพวกเขาเห็นว่ามี IMF คอยหนุนหลังอยู่คงไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด นักลงทุนจึงระดมกู้เงินจากทั่วโลกเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัสเซียเก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไร แต่แล้วฝันร้ายก็เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียสวมบทซามูไรชักดาบเบี้ยวหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1998 แถมยังออกมาตรการห้ามประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคารอีกด้วย เศรษฐกิจจึงพังไปเกือบทั่วโลก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความละโมบโลภมากของนักลงทุนนั่นเอง จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสอนนักลงทุนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลตอบแทนที่มากเกินความเป็นจริง แต่ดันจับต้องไม่ได้จริง
วิกฤติทางการเงินที่ประเทศสวีเดน ค.ศ. 1990-1994
Photo courtesy of marabuchi
หลายคนค่อนข้างแปลกใจที่วิกฤติทางการเงินครั้งนี้มาเกิดขึ้นที่ประเทศสวีเดนดินแดนที่ถือเป็นรัฐสวัสดิการต้นแบบและธรรมาภิบาลดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่ง ณ จุดเด่นตรงนี้เองได้กลายสภาพมาเป็นหนี้สาธารณะที่สูงมากนานหลายสิบปี จนเมื่อประมาณปลายปี ค.ศ.1980 สวีเดนได้เริ่มคลายความเข้มงวดที่มีต่อสถาบันทางการเงินหลังจากคงอยู่มานานถึง 50 ปี ผลก็คือสถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างคะนองมือเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ สินทรัพย์ต่างๆในช่วงนั้นราคาทะยานขึ้นสูงอย่างประวัติการณ์จนก่อให้เกิดเป็นการขยายตัวในลักษณะของฟองสบู่ แล้วในที่สุดฟองสบู่ที่ว่านั่นก็แตก สินทรัพย์ต่างๆลดมูลค่าลงกลับกลายเป็นของด้อยค่าไปในพริบตา เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้ผลนักธุรกิจและประชาชนก็ต่างไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา ธนาคารก็เริ่มล้มลงเป็นแถบๆ และลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในที่สุด จึงเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายบริหารให้อิสระกับภาคธุรกิจมากเกินไปโดยไม่มีการควบคุมมักจะทำให้การจัดการมวลรวมของระบบธุรกิจขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาควบคุมให้ระบบเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยที่ไม่ผูกขาดเกินไปหรือปล่อยจนเกินไป
นี่เป็นเพียงวิกฤติทางการเงิน 5 อันแรกเท่านั้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังรู้สึกว่ายังไม่จุใจ INCquity ยังมีให้ผู้ประกอบการได้ติดตามอ่านกันต่อไปอีก 5 อัน ในบทความที่มีชื่อว่า “10 สุดยอดหายนะทางธุรกิจในประวัติศาสตร์โลกตอนที่ 2”